หนังสือที่ระลึกวันกำลังสำรอง ประจำปี ๒๕๖๔
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า “พระบิดาแห่งกิจการกำลังสำรองของไทย”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ร.ศ. ๙๙ เมื่อเวลา ๐๘.๕๕ นาฬิกา ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ” เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เวลา ๒๔.๔๕ นาฬิกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนเมื่อ เวลา ๐๐.๔๕ นาฬิกา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยที่มาจากการรุกรานชาติบ้านเมืองโดยชนชาติตะวันตก พระองค์ได้ทรงกำหนดอุดมการณ์ของพระราชอาณาจักรสยามขึ้น โดยกำหนดให้มี ๓ สถาบันหลัก คือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งถือเป็นนโยบาย ส่วนเครื่องมือที่จะปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนต่อทั้งสามสถาบันนี้ ก็คือ “กิจการเสือป่า” และ “ลูกเสือ” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการถือกำเนิดของกิจการรักษาดินแดนอย่างเป็นทางการ
“เสือป่า” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่มิได้รับราชการทหารเข้ารับการฝึกอบรมให้มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง มีกำลังร่างกายแข็งแรง มีความรู้ในเรื่องอาวุธและวิธีการรบ ตลอดจนเป็นผู้มีระเบียบวินัยและเป็นผู้นำที่ดี
เสือป่าในยุคนั้นมีด้วยกัน ๑๑ กองพล แบ่งพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัด มีสโมสรเป็นของตนเอง โดยสโมสรของเสือป่านี้ใช้สำหรับการสังคมของเสือป่าและการฝึกสอนด้วย สโมสรแห่งแรกเปิดขึ้นที่สนามเสือป่าเขาดินวนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๔ ทุกบ่ายวันเสาร์เป็นเวลาของเสือป่าหัดวิชาทหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหัดและสอนด้วยพระองค์เอง เมื่อจบการฝึกในแต่ละครั้ง พระองค์มักทรงอบรมเหล่าเสือป่าโดยอาศัยหลักพุทธศาสนาประกอบ หลังอบรมแล้วเจ้าหน้าที่จะรวบรวมจัดพิมพ์เป็นแบบฝึกเสือป่าและแจกจ่ายต่อไป โดยเฉพาะบทพระราชนิพนธ์ที่เราในยุคนี้รู้จักกันในชื่อ “เทศนาเสือป่า ” ที่คำสอนของพระองค์ยังคงใช้ ได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากที่ได้ตั้งเสือป่าแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกำเนิดกิจการ “ลูกเสือ” ขึ้นอีก โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับเสือป่า จะผิดกันก็ที่ “วัย” ของผู้เข้ารับการฝึกตามกระแสพระราชปรารภของพระองค์ว่า “กองเสือป่าก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหลักเป็นฐานแล้ว แต่ผู้ที่เป็นเสือป่านั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฝ่ายเด็กผู้ยังอยู่ในปฐมวัยก็สมควรจะได้รับการฝึกฝนด้วยเช่นกัน” จึงได้เกิดกิจการลูกเสือขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ และถือเป็นวันกำเนิดลูกเสือแห่งชาติจนทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ในการตั้งกองเสือปาและกองลูกเสือนั้น ก็เพื่อผลิตบุคลากรทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาทหาร มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะร่วมต่อสู้เพื่อช่วยกัน “รักษาดินแดน” รักษาอธิปไตยของชาติ แม้ว่าภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ทำให้กิจการเสือป่าสิ้นสุดลง แต่ “หัวใจ” ของภารกิจนั้นยังคงอยู่ เช่นเดียวกับกิจการลูกเสือที่ยังคงดำเนินการมาตราบจนปัจจุบัน จึงนับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระบิดาแห่งกิจการกำลังสำรองของไทย” อย่างแท้จริง