ประวัติความเป็นมา
สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน (ว.รด.) ได้ก่อกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งตรงกับสมัยของ พล.ท.ขุนศิลป์ชัย เป็นเจ้ากรมการรักษาดินแดน นับเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งที่ ๔ ของประเทศไทยซึ่งอยู่ในอัตราของแผนกข่าว โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงเรียนช่างกลปทุมวัน ประกอบเครื่องส่งให้ในระบบ เอ.เอ็ม. กำลังส่ง ๖๐ วัตต์ สามารถรับฟังได้ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ความถี่ ๑๑๐๐ KHz โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการฝึกวิชาทหาร ให้แก่นักศึกษาวิชาทหาร เผยแพร่ข่าวสารและกิจการรักษาดินแดน
ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๙๓ ได้ย้ายสถานีวิทยุ ไปอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน และจากการย้ายครั้งนี้ ทำให้ชื่อเสียงของสถานีวิทยุ กรมการรักษาดินแดน เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนกว้างขวางขึ้น
ต่อมาในปี ๒๔๙๖ กรมการรักษาดินแดน ได้ย้ายการบังคับบัญชาจากการเป็นหน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม มาเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก พล.อ.สุรใจ พูนทรัพย์ เจ้ากรมการรักษาดินแดน ในขณะนั้นได้รับงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมมาจำนวนหนึ่ง นำมาปรับปรุงกิจการกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน โดยได้สั่งซื้อเครื่องส่งจากต่างประเทศจากบริษัท ยี.ซีมอนด์ กำลังส่ง ๑ กิโลวัตต์ จำนวน ๒ เครื่อง คือเครื่องส่งยี่ห้อคอลลินและยี่ห้อเกสท์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘ ทั้งสองเครื่องนี้ได้ใช้ส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ กรมการรักษาดินแดน ภาคปกติ คลื่น ๑๑๐๐ KHz เรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๐๖ และเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๙๘ กรมการรักษาดินแดน ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันคือ บริเวณสวนเจ้าเชตุ ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สถานีวิทยุ กรมการรักษาดินแดน จึงได้ย้ายตามมาด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๒ กองทัพบก มีนโยบายห้ามสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดนและสถานีวิทยุกระจายเสียงอื่นๆ อีกหลายสถานี ส่งออกอากาศในระบบคลื่นสั้น ดังนั้นกรมการรักษาดินแดนจึงได้ติดต่อขอขนาดคลื่นความถี่เพิ่มเติมจำนวน ๓ ความถี่ เพื่อเป็นการทดแทนคลื่นสั้นที่ถูกสั่งห้าม ดังนี้
๑. ระบบ เอ.เอ็ม. ขอจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ขนาดคลื่น ๗๓๘ KHz (๗๓๐ เดิม) นำมาใช้กับสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาคพิเศษ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓
๒. ระบบ เอ.เอ็ม. ขอจากกรมประชาสัมพันธ์ ได้ขนาดคลื่น ๑๔๗๐ KHz นำมาใช้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมการรักษาดินแดน ภาคผนวก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๔
๓. ระบบ เอ.เอ็ม. ขอจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ขนาดคลื่น ๙๖ KHz นำมาใช้กับสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาคพิเศษ
เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘
เมื่อรวมกับคลื่นขนาด ๑๑๐๐ KHz ที่มีอยู่เดิม ทำให้กรมการรักษาดินแดน มีคลื่นวิทยุกระจายเสียงรวมเป็น ๔ คลื่น ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
เป็นทางการนั้น ได้นำมาจัดตั้งเป็น ๔ สถานี ดังนี้
๑.คลื่น ๑๑๐๐ KHz เดิม ก่อตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาคปกติ ต่อมาได้ย้ายไปที่จังหวัดเชียงใหม่
๒. คลื่น ๗๓๐ KHz ที่ขอใหม่ ก่อตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาคพิเศษ เอ.เอ็ม กรุงเทพมหานคร ความถี่ ๗๓๘ KHz และเมื่อปี ๒๕๓๙ ได้เปลี่ยนความถี่เป็น ๗๔๗ KHz
๓. คลื่น ๑๔๗๐ KHz ที่ขอใหม่ ก่อตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาคผนวก ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่จังหวัดขอนแก่น
๔. คลื่น ๙๖ KHz เดิม เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน ภาค เอฟ.เอ็ม.กรุงเทพมหานคร
ทั้ง ๔ สถานี ได้มีการเผยแพร่ข่าวสารด้านกิจการรักษาดินแดนและประกาศข่าวสารของทางราชการมาโดยตลอด และได้มีการปรับปรุงมาโดยลำดับ จนกระทั่งปี ๒๕๑๕ กรมการรักษาดินแดนได้มีนโยบายที่จะขยายกิจการรักษาดินแดนออกไปสู่ส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และได้รับความนิยมจากนิสิตนักศึกษาต่างจังหวัดมากขึ้น กรมการรักษาดินแดนจึงได้เปิดศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารขึ้นตามจังหวัดทหารบกและมณฑลทหารบกทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการเผยแพร่กิจการรักษาดินแดนไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น กรมการรักษาดินแดน จึงได้วางแผนปรับปรุงและขยายกิจการรักษาดินแดน ไปตั้ง ณ ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนภูมิภาค โดยวางแผนจะตั้งให้ครบ ๓ ภาค คือภาคเหนือ มีแผนที่จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดเชียงใหม่หรือพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนที่จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดอุดรธานีหรือขอนแก่นและที่ภาคใต้ มีแผนที่จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดสงขลาหรือนครศรีธรรมราช ซึ่งได้หารือกับกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมตามลำดับและมีการศึกษาสถานที่ที่จะเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่เรียบร้อย จนถึงปี ๒๕๑๗ แผนจึงถูกยกเลิกไป เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นมีนโยบายระงับไม่ให้มีการโยกย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงไปตั้ง ณ ต่างจังหวัด
ต่อมาปี ๒๕๒๐ รัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายห้ามดังกล่าว กรมการรักษาดินแดน จึงได้ดำเนินการตามแผนที่เคยวางไว้ในการย้ายสถานีวิทยุ
กระจายเสียงไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยได้ขออนุมัติต่อกองทัพบก ทางภาคเหนือขอย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียง ภาคปกติ ไปตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีวิทยุ
กระจายเสียง ภาคผนวก ย้ายไปตั้งที่จังหวัดขอนแก่นและในปี ๒๕๓๐ กรมการรักษาดินแดน ได้ขออนุมัติจัดตั้งเพิ่มในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก ๓ สถานี ส่งกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม.ที่จังหวัดเชียงราย มหาสารคาม และ ภูเก็ต
สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน จังหวัดภูเก็ตความถี่ ๑๐๒.๒๕ MHZ ระบบเอฟ.เอ็ม.
ประวัติโดยย่อของสถานี
เมื่อปี ๒๕๓๐ คณะกรรมการ กบว.ทบ. ได้อนุมัติให้กรมการรักษาดินแดน จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น กรมการรักษาดินแดน จึงได้ขออนุมัติเทศบาลเมืองภูเก็ตใช้สถานที่บริเวณเขารังนอก อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นที่ตังของสถานีวิทยุ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ
ได้เริ่มทดลองออกอากาศส่งกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๑ และส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๑ ในระบ เอฟ.เอ็ม.สเตอริโอ มัลติเพล็คส์ ความถี่ ๑๐๒.๒๕ MHz กำลังส่ง ๑ กิโลวัตต์ ออกอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมง
รัศมีกระจายเสียง จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และ ตรัง
สถานที่ตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการรักษาดินแดน จังหวัดภูเก็ต เขารังนอก ถนนคอซิมบี้ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๐๐๐
ยุทธศาสตร์และแผนงานของสถานีวิทยุกระจายเสียง
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน มียุทธศาสตร์และแผนงานในด้านกิจการกระจายเสียง ในห้วงปี 2563-2568 ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีแผนในการผลิตรายการรวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและโครงการต่างๆ รวมทั้งเป็นแม่ข่ายหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงในพิธีสำคัญต่างๆ เพื่อถวายความจงรักภักดี เชิดชูและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง .2. ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อความมั่นคง โดยมีแผนในการเผยแพร่ข่าวสารตามภารกิจของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทราบ เข้าใจ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วย -ประชาสัมพันธ์กิจการกำลังสำรอง ในการปฏิบัติตามแผนการเรียกพลฯ ได้อย่างถูกต้อง ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กำลังพลสำรอง ผู้ปกครอง ตลอดจนนายจ้างของกำลังพลสำรองที่เกี่ยวข้องกับการเรียกพลฯ
-ประชาสัมพันธ์กิจการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ในการรับสมัครและรายงานตัว การฝึกภาคปกติ การสอบ การฝึกภาคสนาม การขึ้นทะเบียนกองประจำการและปลดเป็นกองหนุน การกระทำพิธีสวนสนาม พิธีประดับยศว่าที่ ร.ต. ให้เข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง นักศึกษาวิชาทหาร และสถานศึกษาต่างๆ .
-ประชาสัมพันธ์กิจการสัสดี เกี่ยวกับทหารกองเกิน ในการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ และทหารกองหนุน ตาม พรบ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้เข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ชายไทยที่เป็นทหารกองเกิน และเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ ผู้ปกครอง ทหารกองหนุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง .
-ประชาสัมพันธ์กิจการอาสารักษาดินแดนของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน(นรด.) ในการสนับสนุนกิจการอาสารักษาดินแดนของกระทรวงมหาดไทย ให้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องโดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของกระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย
3. ยุทธศาสตร์การกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในด้านการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นสื่อกลางใน . การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ปลูกฝังอุดมการณ์และเสริมสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารกับประชาชน และเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ข้อมูลการดำเนินการที่แสดงความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียง ตามภารกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการสร้างสรรค์ ทำให้กำลังพลสำรองเข้าใจภารกิจ มีความภาคภูมิใจ และ มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ, ทำให้ นศท. เป็นเยาวชนที่มีระเบียบวินัย มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์, ทำให้ประชาชนและส่วนราชการต่างๆ ได้รับทราบและเข้าใจการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามห้วงเวลาที่กำหนด และ ทำให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนได้อย่างราบรื่น รวมทั้งได้ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ในการการกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในด้านการสร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
พันธกิจ/ภารกิจของสถานี
1. เป็นเครื่องมือสนับสนุนเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคง การช่วยเหลือประชาชน และการพัฒนาประเทศ ในการผลิตกำลังสำรอง การเตรียมกำลังพลสำรอง รวมทั้งสนับสนุนเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อการทหารและยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพื่อขยายผลในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ ในการเป็นกำลังพลสำรอง และทหารกองประจำการที่มีภาระหน้าที่เข้ารับราชการทหารทั้งในยามปกติและยามสงคราม .
2. เป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารด้านความมั่นคง โดยการประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติการทางจิตวิทยา ซึ่งต้องเตรียมให้มีความพร้อมตั้งแต่ยามปกติ
3. เป็นเครื่องมือสนับสนุนเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศ ในการใช้กำลังสำรองทุกประเภทในสถานการณ์ที่ไม่ปกติหรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเชิญชวนกลุ่มกำลังพลสำรองในลักษณะจิตอาสา เพื่อการบรรเทาสาธารณภัยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ตามขีดความสามารถ
วิสัยทัศน์ของสถานี
กิจการกระจายเสียงเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนภารกิจของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กองทัพบก และรัฐบาล ให้มีศักยภาพในอันที่จะพิทักษ์รักษาเอกราช และความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาชนและผลประโยชน์ของชาติรวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่นคงยั่งยืน เพื่อให้หน่วยมีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่น ตลอดจนสามารถเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้เสมอ โดยเป็นสื่อหลักด้านการบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยสาธารณะ
หลักฐานข้อมูลเชิงนโยบายในการกำหนดทิศทางการนำเสนอเนื้อหารายการของสถานีว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทิศทางการกำหนดเนื้อหารายการเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นเครื่องมือในการประสานงาน ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างกรอบความคิดที่ถูกต้อง ต่อกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนี้
1.งานฝึกวิชาทหารหรือการเรียน รด. เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถานศึกษาวิชาทหารรวมทั้งครูอาจารย์ ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารและผู้ปกครอง เข้าใจถึงรายละเอียดการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนตามวงรอบการฝึก รวมทั้งให้เห็นถึงความสำคัญของการฝึก นศท. เพื่อเป็นแกนนำของเยาวชนที่มีระเบียบวินัย มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
2. งานจัดเตรียมกำลังพลสำรอง ให้กับหน่วยในระบบกำลังสำรอง ตามแผนป้องกันประเทศ แยกเป็นแต่ละระบบย่อยได้ ดังนี้ .
- งานระบบบรรจุและการใช้กำลังพลสำรอง แจ้งให้กำลังพลสำรองทราบถึงความจำเป็นที่ชาติ ต้องมีกำลังพลสำรองที่มีความพร้อม และทราบที่มาของกำลังสำรอง ว่าแต่ละปีต้องการกำลังพลสำรองเท่าใด ประเภทใดบ้าง จากบัญชีใด หรือ รุ่นปีใด เพื่อให้กำลังพลสำรองที่มีความภาคภูมิใจ และต้องการมาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ
- งานระบบผลิตกำลังพลสำรอง แจ้งให้นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารของสถาบันการ ศึกษาวิชาทหารต่างๆ ให้ทราบถึงความต้องการรับสมัครเข้าเป็น นศท. ในแต่ละปีว่ากองทัพต้องการเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงงานด้านทะเบียนพล และบัญชีเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กำลังพลสำรองที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารแล้วได้ทราบ รวมทั้งเพื่อฝึก นศท. ให้เป็นเยาวชนที่มีระเบียบวินัย มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
- งานระบบฝึกศึกษากำลังพลสำรอง แจ้งให้กำลังพลสำรองทราบถึงรายละเอียดในการฝึกแต่ละระบบที่กำหนดในแผนการเรียกพลประจำปี เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดในการฝึกแต่ละระบบที่กำหนดในแผนการเรียกพลประจำปี เพื่อให้กำลังพลสำรองได้ใช้เป็นข้อมูล ในการวางแผนเตรียมความพร้อมและเกิดความภาคภูมิใจในการเข้ารับการฝึก
- งานระบบควบคุมกำลังพลสำรอง แจ้งให้กำลังพลสำรองได้ทราบถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ และ สิทธิที่จะได้รับ รวมทั้งเชิญชวนให้กำลังพลสำรองที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลังมาพบปะกับเจ้าหน้าที่ หรือมาร่วมกิจกรรมกับหน่วยในระบบ กำลังสำรอง เพื่อตรวจสอบสถานภาพให้ทันสมัย
- งานระบบเรียกพลหรือระดมพล แจ้งให้กำลังพลสำรองได้รับทราบถึงกำหนดการตามแผนการเรียกพลประจำปี เพื่อจะได้มารายงานตัวได้ทันตามวันเวลา และสถานที่ที่กำหนด
3. งานในกิจการสัสดี ได้แก่ งานจัดทำทะเบียน การเรียก การตรวจเลือก การยกเว้นและผ่อนผัน ให้กับชายไทยทั่วประเทศ ที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารฯ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสื่อในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ทราบและเข้าใจถึงรายละเอียดการปฏิบัติ และขั้นตอนในการดำเนินการตามขบวนการต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติโดยรวมเป็นไปตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497 ด้วยความเรียบร้อยไม่กระทบต่อภาพพจน์ของกองทัพบก โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส และความบริสุทธิ์ยุติธรรม
4. งานในกิจการอาสารักษาดินแดน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนทุกระดับ ในทุกภูมิภาค
ที่ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนและกองทัพ ให้ทราบถึงขั้นตอนหรือแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งในยามปกติและยามสงครามไม่ว่าจะเป็นด้านการฝึก การสนับสนุน ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการปฏิบัติงานร่วมกันในอนาคต